พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์

พิธีบวงสรวง

พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์

พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์

การบูชาเทวดานพเคราะห์เป็นลัทธิที่นิยมทำกันอยู่ ความประสงค์ คือ ปรารถนาให้เทพยดาผู้มีฤทธิ์อำนาจ ช่วยเหลือป้องกันและปลดเปลื้องทุกข์ภัยพิบัติ ยังความเกษมสวัสดิ์ให้บังเกิดมี เป็นธรรมดาของมนุษย์ เมื่อได้ประสบทุกข์เข็ญก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขทุกข์ภัยด้วยอุบายพิธีต่าง ๆ จึงได้ประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าด้วยวรามิสอันวิจิตรบรรจงนานาประการ โดยวิธีทำให้ท่านชอบและหวังผลตอบแทน คือ ความสุขสราญนิราศภัย แต่การบูชาเทวดานพเคราะห์เป็นลัทธิไสยศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยคติพุทธศาสตร์เข้าแทรกอยู่ด้วยนี้ เป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่จะได้เป็น
เทวดานั้น ต้องอบรมคุณงามความดีจนบารมีแก่กล้าสิ้นกาลช้านานจึงเป็นเทวดาได้ เมื่อผู้ใดบูชาสักการะเทวดาก็เป็นผู้ที่เคารพ นับถือและบูชาผู้มีคุณงามความดีนั่นเอง และเป็นอันเชื่อว่าได้บำเพ็ญกรณีส่วนเทวดาพลีการบูชาผู้ทรงคุณงามความดีจะหาโทษมิได้ ย่อมให้ประสบแต่ผลดี คือ ความเจริญโดยส่วนเดียว โดยเหตุที่เทวดาพลีธรรมิกสักการะเป็นอปริหานิยมปฏิบัติเป็นที่ตั้งแห่งสุขสวัสดิ์ วิบูลย์ผลนี้ สมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสแก่มหานาม “ลิจฉวีกษัตริย์” ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในอปภิหานิยธรรมสูตรปัญจกังคุตตรนิกายว่า “ปุนะ จะปะรัง มหานามะ กุละปุตโตยาตา เทวตา ตา สักกะโรติ” เป็นต้น

มีความว่า “ดูก่อนมหานามะกุลบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นขัตติยราชได้มรุธาภิเศกแล้ว หรือเป็นรัฏฐาธิบดีครอบครองแว่นแคว้นบริโภคผ่านสมบัติอันพระชนกประทานให้ก็ดี หรือเป็นนายแต่เสนา นายบ้าน นายกอง แม้โดยอย่างต่ำเป็นแต่อธิบดีเฉพาะผู้เดียวในตระกูลนั้น ๆ ก็ดี มาปฏิบัติเทวดาพลีสักการะเทพเจ้าเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้รับพลีกรรม คือ อารักขาเทวดาที่รักษาตนและวัตถุเทวดาอันสถิตในที่อยู่ เป็นต้น ควรมนุษย์ชนจะบวงสรวงสักการะให้ยินดี กุลบุตรมาสักการบูชาเทพเจ้าทั้งหลายนั้นอันกุลบุตรได้สักการบูชาด้วยเทวดาพลีแล้วก็ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ๆ ด้วยจิตเป็นกุศลไกลจากพยาบาทวิหิงสาทั้งเมตตาต่อกุลบุตรนั้นว่า “จีรัง ชีวะ ทีฆะ มายุง ปาเรหิ” ขอท่านจงดำรงอยู่นานเถิดจงเลี้ยงรักษาอายุให้ยืนนานดูก่อนมหานามะกุลบุตรนั้นเทพเจ้าหากอนุเคราะห์”

ด้วยไมตรีกัลยาณจิตฉะนี้แล้ว เร่งปรารถนาความเจริญถ่ายเดียวเถิดไม่พึงมีความเสื่อมคงจะมีวุฒิ ความเจริญโดยไม่สงสัยดังนี้ พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์นิยมทำกันเมื่อมีอายุ ๖๐ ปี หรือเรียกว่าทำบุญอายุครบ ๕ รอบ (หรือแซยิด) การทำบุญวันเกิดหรือขณะที่ได้รับทุกข์ภัยไข้เจ็บ นอกจากจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ยังได้เชิญโหรและพราหมณ์มาประกอบพิธียัญญกิจควบคู่กันไปกับทางพุทธศาสตร์ด้วย

สิ่งของที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีมากเพราะเป็นพิธีใหญ่ มีการจัดตั้งบัตรพลีบูชาเทพยดาตั้งเครื่องสังเวยเซ่นบวงสรวงเพื่อขอพรเทพยดา ดาวพระเคราะห์ ซึ่งสถิตในดวงชะตาให้มาช่วยปัดเป่าทุกข์ภัย บันดาลให้เกิดสวัสดิ์มงคล มีความสุขสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งขึ้นปราศจากอุปสรรคหายนะภัยอันตรายทั้งปวง จึงเรียกว่า “พิธีสวดนพเคราะห์” การสวดนพเคราะห์พระสงฆ์เป็นผู้สวดบทพระปริตรตามกำหนดบทของดาวนพเคราะห์ โดยสวดสลับกันกับโหร ซึ่งโหรทำหน้าที่กล่าวคาถาบูชาเทพยดาเป็นทำนองสรภัญญะ เมื่อโหรกล่าวคำบูชาเทพยดาจบแล้วพระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์ตามบทของดาวพระเคราะห์สลับกันไปกับโหรที่สวดบูชาเทวดานพเคราะห์องค์นั้น ๆ จนครบ ๙ องค์

เนื่องในพิธีการบูชานพเคราะห์กระทำกันหลายนัยด้วยกัน ถ้าจะประกอบพิธีทั้งทางพุทธศาสตร์และพราหมณ์ควบคู่กันไปให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามคตินิยมแบบฉบับของโหราจารย์แล้วนับว่าเป็นพิธีที่ใหญ่จะต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ผู้มีจิตศรัทธาจะจัดทำได้จะต้องเป็นผู้ที่มีฐานะดีเป็นคฤหบดีหรือเจ้านายที่สูงศักดิ์จึงกระทำได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยการใช้ทุนทรัพย์ให้น้อยลงเพื่อความสะดวก จึงเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาทุกเพศทุกวัยได้เข้าร่วมในพิธีบูชานพเคราะห์เป็นการสะเดาะเคราะห์ เสริมสร้างบารมีให้ดวงชะตาดีเด่นเพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของชีวิตปัจจุบันและอนาคต จึงจำต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานพิธีบูชานพเคราะห์ขึ้นเป็นส่วนรวม ด้วยการช่วยเหลือบริจาคทุนทรัพย์ตามกำลังศรัทธา ใช้ศาลาการเปรียญหรือวิหาร ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชานพเคราะห์ จึงจะประสบผลสำเร็จหรือเป็นผลดีแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่มีฐานะด้อยและมีรายได้น้อย

เครดิตที่มาข้อมูล : กระทรวงวัฒนธรรม http://www.m-culture.go.th/…/20…/item/พิธีบูชาเทวดานพเคราะห์

สำหรับท่านที่สนใจเข้าพิธี จุดเทียนบูชาเทวดานพพระเคราะห์ 

ติดต่อ วัดบางกร่าง อำเภอเมือง จ.นนทบุรี 087-579-8414

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>