พระพิราพ วัดบางกร่าง

[nggallery id=2]

ตำนานพระพิราพ
พระอิศวรอวตารภาคดุ ( หรือพระพิราพ )
-เทพอสูรผู้เป็นบรมครูสูงสุดแห่งนาฏศิลป์
บรมครูผู้ประทานโชคลาภความสุข ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข และอำนาจ แห่งมหาเสน่ห์เมตตาชั้นสูงสุด
-เทพเจ้าผู้ประทานชีวิตและความตาย
-เทพเจ้าแห่งพลังอำนาจการลบล้างคุณไสยมนต์ดำ ป้องกันกันและปราบปรามภูตผีปีศาจ และอาถรรพณ์ร้ายทุกชนิด

พระพิราพนับเป็นบรมครูองค์สำคัญพระองค์หนึ่งที่หมู่นาฏศิลป์ทั้งหลายให้ความเคารพในฐานะบรมครูผู้ศักดิ์สิทธิ์
ทรงฤทธิ์แรงครูชั้นสูง ทั้งนี้คติในการนับถือพระพิราพว่าเป็นบรมครูนั้นสืบเนื่องประเพณีการนับถือพระไภราวะของ
ชาวอินเดียและเนปาล โดยพระไภราวะนั้นคือภาคหนึ่งของพระอิศวรที่แสดงรูปกายออกมาเป็นยักษ์ที่ทรงอิทธิฤทธิ์
ตามคติตำนานแต่โบราณกล่าวว่า พระไภราวะนี้มีฤทธิ์ในการปราบภูตผีปีศาจ ในสมัยก่อนเมื่อเกิดโรคระบาด
คร่าชีวิตผู้คนทั้งหลาย ขาดที่พึ่งจึงได้ระลึกถึงพระไภราวะผู้ประทานชีวิตและความตายอันเป็นภาคมหาปราบภาคหนึ่ง
ของพระศิวะเจ้า เมื่อคนทั้งหลายต่างพากันบูชาพระไภราวะแล้ว โรคร้ายทั้งหลายทั้งปวงก็หายไป บังเกิดความร่มเย็น
เป็นสุขขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นการนับถือพระไภราวะนี้จึงมีคติที่นับถือกันว่าผู้ใดก็ตามที่นับถือบูชาแล้ว ผู้นั้นจะปราศจาก
ภยันอันตราย อาถรรพณ์ร้ายทั้งปวง ทั้งยังช่วยให้เกิดสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

คติการนับถือพระไภราวะนี้เข้ามาในไทยพร้อมกับวิชานาฏศิลป์ คำว่าพระพิราพนั้นก็มาจากคำว่า “ไภราวะหรือไภรวะ”
แล้วภายหลังเพี้ยนมาเป็น “พระไภราพ” จนที่สุดก็กลายมาเป็นคำว่า “พระพิราพ” ในคติของชาวนาฏศิลป์ที่นับถือ
พระพิราพนั้นก็เนื่องจากเชื่อถือกันว่า พระพิราพนี้เป็นบรมครูทางฝ่ายยักษ์ผู้สูงสุดและยังถือว่าพระพิราพนี้เป็น
ผู้ประทานโชคลาภ เสน่ห์เมตตามหานิยม อุดมด้วยทรัพย์สมบัติ ผู้ที่เคารพบูชาพระองค์จะเป็นเมตตามหานิยมแก่
คนทั้งหลาย บังเกิดความเจริญสูงสุดในชีวิตทุก ๆ ด้าน ทั้งเรื่องการงาน การเงิน และจะมีความร่มเย็นเป็นสุข
ห่างไกลจากโชคร้ายภยันอันตรายทั้งหลายอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ว่าจะต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายอย่างหนึ่ง
อย่างใดก็ดี หากมีพระพิราพบูชามีบารมีแห่งพระองค์คุ้มหัวคุ้มเกล้าแล้วไซร์ ย่อมปลอดภัย ผ่อนหนักเป็นเบา
แคล้วคลาดไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้นว่าบ้านใดมีผู้ป่วยเรื้อรังมานานหรือญาติมิตรทั้งหลายเจ็บป่วยขาดที่พึ่ง
เกรงว่าจะรักษามิได้ ก็ให้ระลึกถึงคุณบรมครูพระพิราพ จุดธูปเทียนสักการะ ตั้งจิตอธิฐานถึง คุณพระพุทธเจ้า
คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสังฆเจ้า และคุณบรมครูอสูรเทพพระพิราพเอาเถิดจะเกิดผลดีเป็นแน่แท้ อำนาจแรงครู
จะช่วยปัดเป่าโรคร้ายเสนียดจัญไร เคราะห์ร้าย ทั้งหลายให้พินาศไปเอง แม้ว่าจะประสงคืได้เลื่อนยศเลื่อน
ตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือประสงค์เงินทองมิให้ขาดมือ ปรารถนาอยากมีโชคมีลาภ ก็ให้จุดธูปเทียนบูชา
พระองค์แล้วตั้งจิตอธิฐานขอให้พระองค์โปรดประทานพรอันสิ่งเป็นมงคล ก็จะสมหวังในกาลทุกเมื่อแลฯ

อนึ่งเรื่องเกี่ยวกับพระพิราพนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศีรษะโขนก็ดี การสร้างพระพิราพเต็มองค์ในรูปแบบ
วัตถุมงคลก็ดี หรือแม้กระทั่งการร่ายรำท่ารำพระพิราพหรือการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์พิราพก็ดี ล้วนแล้วแต่
เป็นความศักดิ์สิทธิ์ด้วยกันทั้งสิ้นสำหรับการรำท่ารำพิราพเต็มองค์นั้น ครั้งหนึ่งเกือบสูญหายไปจากวงการนาฏศิลป์
ในราวปี พ.ศ.๒๕๐๔ นั้นได้ จัดให้มีการถ่ายทอดท่ารำขึ้นที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงได้มี
การสืบสานตำนานท่ารำพระพิราพเต็มองค์และคติความเชื่อความนับถือพระพิราพมิให้สูญหายไปจากวงการ
นาฏศิลป์ของไทยเราสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้>>

วาทะสิทธิ์ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑
คัดข้อมูลจากใบบูชาพ่อพิราพ หลวงพ่อกาหลง เขี้ยวแก้ว

เครดิต:ชมรมคนรักพ่อแก่


คาถาอัญเชิญพระพิราพ
กฎข้อสำคัญของพระพิราพ
จึงจะเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านเอง เครื่องสังเวย ได้แก่ ( ไข่ดิบ ๕ฟอง ) ( ข้าวตอก ๑ ถ้วย ) ( น้ำผึ้ง ๑ ถ้วยชาเล็ก )
ดอกไม้หรือพวงมาลัย ( รวมกันให้ได้ ๓ สี ขึ้นไป ) วางตั้งลงพานบูชา เป็นการรับครูจุดธูป ๕ ดอก เทียน ๒ เล่ม
ตั้งนะโม ๓ จบ สวดบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้ว ( สวด อิติปิโส ถึง โลกัสสาติ ) จากนั้นจึงสวดพระคาถาอัญเชิญ
พระพิราพรับเครื่องสังเวย ดังนี้
อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ ทุติยัมปิ อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ ตะติยัมปิ อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ พุทธัง
องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา ธัมมัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา สังฆัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา

พุทโธ สิทธิฤทธิ์ ธัมโม สิทธิ์ฤทธิ์ สังโฆ สิทธิฤทธิ์ สุขะ สุขะ ชัยยะ ชัยยะ ลาภะ ลาภะ สัพพะธัมมานัง
ประสิทธิเม ประสิทธิเต พุทโธสวัสดีมีชัย ธัมโมสวัสดีมีชัย สังโฆสวัสดีมีชัย ปะติตัง สุรังคันธัง อะธิษฐามิ
พุทธัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา ธัมมัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา สังฆัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา
พุทโธสิทธิ์ฤทธิ์…………………..อะธิษฐามิ ตะติยัมปิ พุทธัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา ตะติยัมปิ ธัมมัง
องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา ตะติยัมปิ สังฆัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา

พุทโธสิทธิ์ฤทธิ์…………………..อะธิษฐามิ
อิมัสสะมิง วันทามิ อาจาริยัง สัพพะไสยยัง วินาสสันติ สิทธิการะ อัปปะระปะชา อิมัสสะมิง สิทธิ ภะวันตุ สัพพะทา
นะมัสสิตะวา อาจาริยัง อิสิโลกะนาถัง พุทธะสะรามิ นะมัสสิตะวา อาจาริยัง อิสิโลกะนาถัง ปะติปะติบูชา วันทิตะวา
อสูรเทพานัง มะหันตะพะลัง อันตะรายัง วินาสสันติ สิทธิการิยะ พิราธาสูรยัง วิชชาจาระณาสัมปันนัง นะมามิหัง
อัคคีพาหูบุปผัง อะหังวันทา อาจาริยัง สัพพะไสยยัง วินาสสันติ
สิทธิปะระปะชา อิมัสสมิง ภะวันตุเม ทุติยัมปิ อัคคีพะหูบุปผัง………………ภะวันตุเม เม ตะติยัมปิ อัคคีพะหูบุปผัง.
……………..ภะวันตุเม ( จากนั้นให้กล่าวต่อว่า )
“ข้าพเจ้า………………………ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกหลานเป็นลูกศิษย์แห่งพระองค์ท่านพระพิราพผู้เป็นบรมครู
และขอไดโปรดให้ท่านมีเมตตาประทานพรประทานโชคลาภตามสมควรแก่ลูกด้วย “
และหากต้องการอธิษฐานขอพรใดๆ ก็กล่าวคำอธิษฐานตามแต่ปรารถนาเถิดพระคาถาข้างต้นนี้ใช้กล่าวสวดบูชา
เฉพาะตอนที่ถวายเครื่องสังเวยเท่านั้นส่วนคาถาที่ใช้สวดบูชา ติดตัวทุกวันให้ใช้บทสวดที่จะกล่าวถึงต่อไปสำหรับ
การบูชานี้จำเป็นอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ได้รับพระพิราพไปสักการบูชาจะเป็นผลที่ดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่า
“พระพิราพ” ท่านมีฤทธิ์ดชแรงมาก ส่วนการบูชาในวันอื่นๆ ที่นอกจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความศรัทธาโดยไม่จำเป็นว่า
จะต้องทำเป็นประจำ

วาทะสิทธิ์ ๑ มกราคม ๒๕๕๑
คัดข้อมูลจากใบบูชาพ่อพิราพ หลวงพ่อกาหลง เขี้ยวแก้ว

เครดิต:ชมรมคนรักพ่อแก่

ผู้ที่รับบูชาพระพิราพไปคราวแรกจะต้องตั้งเครื่องสังเวยบูชาครูในวันพฤหัสแรก


คาถาบูชาพระพิราพ
นะโม ๓ จบ
อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ ทุติยัมปิ อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ ตะติยัมปิ อิมัง สัจจะวานัง อะธิษฐามิ พุทธัง
องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา ธัมมัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา สังฆัง องค์พิราธัง ขอเอหิจงมา พุทโธ สิทธิฤทธิ์ ธัมโม
สิทธิ์ฤทธิ์ สังโฆ สิทธิฤทธิ์ สุขะ สุขะ ชัยยะ ชัยยะ ลาภะ ลาภะ สัพพะธัมมานัง ประสิทธิเมประสิทธิเต พุทโธ
สวัสดีมีชัย ธัมโมสวัสดีมีชัย สังโฆสวัสดีมีชัย ( ท่อง ๓ จบ )
ยักษะ สะวะรูปะ ชฎา ธะรายะ ปินากะ หัสสะตายะ สะนาตะนายะทิวะยายะ เทวายะ ทิคัมพรายะ ตัสสะไม
ยะการายะ นะมะศิวายะ
เมื่อท่องคาถาเสร็จตามนี้แล้ว ให้ระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสังฆเจ้า คุณบิดามารดา
พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ มีพระพิราพเจ้าเป็นบรมครูอสูรเทพเป็นที่สุด พร้อมทั้งเหล่าบริวารทั้งหลาย
คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นที่สุด แล้วอาราธนาตั้งอธิษฐานให้คุณครูติดตามปกปักรักษาข้าพเจ้า
แม้นว่ามีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอันใดพึงอธิษฐานให้แรงครูช่วยดูแลปกป้องคุ้มครอง หากปรารถนาโชคลาภก็เช่นกัน
หรือเรื่องใดๆก็ตาม และหากสมปรารถนาแล้วไซร์ให้ทุกบุญอุทิศให้ครูบาอาจารย์ มีพระพิราพเจ้าเป็นต้น
จะบังเกิดความสุข ความร่มเย็น โชคลาภก็จะมามิขาดสาย บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไปเป็นนิตย์
และหากมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยให้อาราธนาองค์ “พระพิราพ” ลงทำน้ำทิพย์มนต์ท่องคาถาทั้งสองบท
จุดธูป ๕ ดอก เทียน ๒ เล่ม บูชาคุณครูตั้งจิตระลึกคุณครูถึงให้มั่น ทำใจให้สงบ วางจิตให้เป็นกลาง
ปล่อยวางความกังวลทั้งปวง ท่องคาถาบทแรก ๓ จบ บทที่สอง ๓ จบ แล้วขอพรคุณพระศรีรัตนตรัย
คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ มีพระพิราพเป็นที่สุด อธิษฐานระลึกถึงบุญกุศลที่ตนเคยทำมาตั้งแต่อดีต มีอาทิ
การให้ทาน การถือศีล และสวดมนต์เจริญจิตภาวนา เป็นต้น ตั้งสัจจะอธิษฐาน ลงไปให้แน่วแน่ ขอให้น้ำนี้เป็นน้ำทิพย์
ด้วยเดชแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของครูบาอาจารย์และบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทำมา อธิษฐานน้ำให้เป็นยาวิเศษแก่ผู้ที่เจ็บป่วย
โดยบอกกล่าวแก่ครูบาอาจารย์ไปว่า ผู้ที่เจ็บป่วยนั้นชื่อว่าอะไร ป่วยเป็นอะไร ขอให้เขาหายจากอาการนั้นๆ
โดยพลัน หายจากความเจ็บปวดทุรนทุราย ตั้งจิตเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ให้แน่วแน่เถิดสำเร็จทุกประการ
เมื่ออธิษฐานทำน้ำทิพย์มนต์เรียบร้อยแล้วนำไปให้ผู้ป่วยผู้นั้นดื่มบ้าง ลูบหน้าลูบตาบ้าง แบ่งไปอาบน้ำบ้าง
อาการจะดีขึ้นโดยพลัน
แม้นจะประสงค์เสกน้ำล้างหน้าเป็นเมตตามหานิยมก็ได้เช่นกัน อาราธนาองค์พ่อพิราพขอให้พระองค์ประทาน
เสน่ห์เมตตามหานิยมชั้นสูงแก่ข้าพเจ้า กล่าวอาราธนาคุณพระพิราพโดยท่องบทแรกเพียงบทเดียวก็ได้ ท่อง ๓ จบ
เสกลงไปในน้ำที่เราจะล้างหน้านั้น ตั้งจิตใจให้ดีแล้วเอาน้ำนั้นลูบหน้าโดยลูบจากปลายคางขึ้นไปบนหน้าผาก
ทำอย่างน้องสามครั้ง น้ำที่เหลือล้างหน้ารดหัวตามปกติ เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมอย่างยิ่งแลฯ หากทำให้รัก
ก็จะรักจนลุ่มหลงด้วยฤทธิ์แรงครู แต่ห้ามผิดครูผิดศีล คือหารักใครชอบใครแล้วสำเร็จด้วยแรงครูดังนี้ห้ามทิ้งขว้าง
ห้ามปอกลอก จะมีภัยพิบัติแก่ตัวเอง ต้องนำผู้นั้นออกงานเชิดหน้าชูตา เลี้ยงอุปถัมภ์ด้วยความจริงใจ
หากประสงค์ให้เกิดลาภยศสรรเสริญ โชคลาภสิ่งหนึ่งสิ่งใด พึงทำบุญอุทิศให้คุณครูบาอาจารย์มีพระพิราพ
พร้อมทั้งเหล่าบริวารเป็นที่สุด แล้วหมั่นท่องคาถา บูชาพระองค์ด้วยดอกมะลิ ดาวเรือง กุหลาบบานไม่รู้โรย
ดอกรัก ทุกวันพฤหัสได้ยิ่งดี จะบังเกิดสิริมงคล ลาภยศชื่อเสียงเงินทองโชคลาภจะหลั่งไหลมาไม่ขาดเลยแลฯ

เครดิต:ชมรมคนรักพ่อแก่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>